โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีเนื้อที่ ๑,๑๒๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะของเมืองมีคูเมือง และคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบคูน้ำ ภายในเมืองมีโบราณสถาน เนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า ๑๐๐ แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวาราวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เช่น เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลม ลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวาราวดี โบราณสถานหมายเลขที่ ๒๕ เป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ โบราณสถานสระแก้ว ตั้งอยู่นอกเมืองศรีมโหสถไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นสระน้ำโบราณขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ ตัวสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ทางด้านทิศตะวันตกมีทางลงทำเป็นขั้นบันไดกว้าง ๔ เมตร ความยาวทางลง ๑๓.๖๐ เมตร ผนังขอบสระทุกด้านมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปช้าง มกร (มะกอน, มะกอระ หรือมะกะระ หมายถึง มังกร) สิงห์ หมู กินรี งูพันเสา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ชั้นสูง สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของกษัตริย์เมืองศรีมโหสถ อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๐-๑๑
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรี ๒๐ กิโลเมตร ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ กิโลเมตรที่ ๑๓๐ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๐ อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ มีโบราณสถานตั้งอยู่กระจัดกระจาย สามารถเข้าได้หลายทางและสามารถทะลุถึงกันได้
Hits: 2486